โรคไตเรื้อรังคืออะไร?

 

โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีการทำลายไตนานกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งทราบได้จากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และ/หรือตรวจพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อไต (การตรวจทางพยาธิวิทยา) โรคไตเรื้อรังถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพราะจากการศึกษาพบว่า 4.6-17.5% ของประชาชนไทยมีโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตามมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็นกี่ระยะ?

โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะ ตามระดับความรุนแรง ดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1: พบมีการทำลายไตเกิดขึ้น โดยพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ และ/หรือพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อไต โดยที่อัตราการกรองของไตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ กล่าวคือ มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 2: พบมีการทำลายไตร่วมกับเริ่มมีการลดลงของอัตราการกรองของไตเล็กน้อยคืออยู่ในช่วง 60-89 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 3: มีการลดลงของอัตราการกรองของไตปานกลาง คืออยู่ในช่วง 30-59 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 4: มีการลดลงของอัตราการกรองของไตรุนแรง คืออยู่ในช่วง 15-29 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 5: มีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 15 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.)

โรคไตเรื้อรังมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง นิ่วระบบทางเดินปัสสาวะ โรคถุงน้ำในไต โรคหัวใจ โรคเก๊าท์ และการได้รับสารหรือยาที่ทำลายไต เช่น ยาแก้ปวด บางชนิด และยาปฏิชีวนะ บางชนิด เป็นต้น

มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังหรือไม่?

คุณเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง ถ้าคุณมีโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังดังกล่าว โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง ผู้ที่เคยเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และผู้ที่มีญาติในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง พบมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรรับการตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อตรวจหาโรคไตเรื้อรังตั้งแต่เมื่อทราบว่า เป็นโรคเหล่านั้น

โรคไตเรื้อรังมีอาการอย่างไร?

โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ทำให้ไตผิดปกติทั้งสองข้าง ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ

เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น อาจมีอาการต่างๆเนื่องจากไตทำงานผิดปกติทำให้เกิดการคั่งของเกลือแร่ น้ำส่วนเกิน และของเสียในเลือด เช่น ปริมาณปัสสาวะลดลง ความดันโลหิตสูงขึ้น ซีด เหนื่อยง่ายขึ้น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ คันตามตัว มีอาการบวมที่หน้า ขา และลำตัว ความรู้สึกตัวลดลง หรือมีอาการชัก เป็นต้น

มีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง?

สัญญาณที่สำคัญ 6 ประการ ซึ่งบ่งบอกว่าอาจเป็นโรคไตเรื้อรัง ได้แก่

1.    ความดันโลหิตสูง

2.    การตรวจพบเม็ดเลือดแดง และ/หรือโปรตีนในปัสสาวะ

3.    ระดับของเสียในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันนิยมตรวจวัดสารบียูเอ็น (BUN; Blood urea nitrogen) และสารครีอะตินีน (Creatinine) ซึ่งเมื่ออัตราการกรองของไตลดลง จะทำให้ระดับสารทั้งสองในเลือดสูงขึ้นกว่าค่าปกติ

4.    อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 60 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

5.    ปัสสาวะผิดปกติ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะตอนกลางคืน ปริมาณปัสสาวะลดลง ปัสสาวะลำบากหรือปวดเวลาปัสสาวะ

6.    มีอาการบวม อาจบวมบริเวณหนังตา ลำตัว หลังมือ หลังเท้าและขา

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง?

การตรวจพบและให้การรักษาโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะแรกๆ ทำให้สามารถชะลอการเสื่อมของไตเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

การที่จะทราบว่ามีโรคไตเรื้อรังหรือไม่ และอยู่ในระยะใด สามารถทำได้โดย การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณโปรตีนและการมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ และตรวจเลือดเพื่อวัดระดับสารครีอะตินีนซึ่งปกติจะถูกไตกำจัดออกไปทางปัสสาวะและถูกนำมาใช้ในการคำนวณอัตราการกรองของไต ในผู้ป่วยบางราย จะได้รับการทำเอกซเรย์ระบบทางเดินปัสสาวะ และตรวจชิ้นเนื้อไตเพิ่มเติม (การตรวจทางพยาธิวิทยา)

ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอย่างไร?

จุดประสงค์ของการดูแลรักษาโรคไตเรื้อรัง คือ เพื่อชะลอการเสื่อมของไตและป้องกันภาวะแทรกซ้อน (ทั้งนี้เพราะเมื่อไตเสียไปแล้วจะเสียเลย ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้) ซึ่งประกอบด้วยหลักการต่างๆดังนี้

·        การรักษาเฉพาะเจาะจงตามชนิดของโรคไตเรื้อรัง เช่น คุมระดับน้ำตาลในเลือดในกรณีเป็นเบาหวาน กำจัดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

·        ประเมินและรักษาโรคหรือภาวะอย่างอื่นที่พบร่วมด้วย

·        ชะลอการเสื่อมของไต

·        ป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด

·        ป้องกันและรักษาผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำงานของไตลดลง

·        เตรียมผู้ป่วยสำหรับกรณีไตวายเรื้อรัง รวมถึงเตรียมการรักษาทดแทนไต

·        ให้การรักษาทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต เมื่อมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้โดย

·        ในรายที่มีระดับความดันโลหิตสูง ควรลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท โดยการรับประทานอาหารรสจืด ไม่เค็ม ออกกำลังกาย และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ

·        ผู้ป่วยเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ โดยเฉพาะในรายที่ยังไม่มีหรือเริ่มมีโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ จึงจะสามารถป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตได้

·        ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโรค หรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย เช่น รักษาการอักเสบที่ไต กำจัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รักษาโรคเก๊าท์หยุดยาที่ทำลายไต เป็นต้น

·        ควรหยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำลายไตและเพิ่มระดับความดันโลหิต

·        ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้ที่การทำงานของไตลดลงมาก จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประทานอาหารที่มีปริมาณโปรตีนต่ำกว่าปกติ เพราะการเผาผลาญโปรตีนจะทำให้ได้ของเสียเพิ่มขึ้นในร่างกายซึ่งไตจะ ต้องกำจัดออก ดังนั้นการกินโปรตีนสูงจึงเพิ่มภาระงานให้ไต

·        นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อประเมินการทำงานของไต และรักษาผลแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไตเรื้อรัง

รักษาผลแทรกซ้อนหรือโรคที่เกิดร่วมกับโรคไตเรื้อรังได้อย่างไร?

เมื่อไตทำงานลดลง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่หลายชนิดในเลือด อาทิ ระดับโปแตสเซียมและฟอสเฟตในเลือดสูงขึ้น ระดับแคลเซียมในเลือดลดลงและมีภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาและแนะนำให้ผู้ป่วยปรับการรับประทานอาหารตามผลของระดับเกลือแร่ในเลือด เช่น ลดอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม มะเขือเทศ ฟักทอง ปลาทูน่า และโยเกิร์ต และลดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง เช่น นม ถั่วเมล็ดแห้งและไข่แดงเป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายมีภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งควรควบคุมอาหารไขมัน ออกกำลังกาย และแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาลดไขมัน การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงช่วยป้องกันการเกิดหลอดเลือดตีบตันโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

เมื่อไตทำงานลดลง ทำให้ขาดสารอิริโธรโพอิติน ไขกระดูกจึงสร้างเม็ดเลือดแดงลดลงและเกิด ภาวะซีด ขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย แพทย์จะให้การรักษาด้วยการฉีดสารอิริโธรโพอิตินที่สังเคราะห์ขึ้นทดแทน

โรคไตเรื้อรังทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เนื่องจากขาดวิตามินดีในรูปที่พร้อมทำงาน และมีอัตราการสลายกระดูกมากกว่าอัตราการสร้างกระดูก แพทย์จะแนะนำอาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง และให้ยาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

เราจะเป็นอย่างไรเมื่อโรคไตเรื้อรังรุนแรงมากขึ้น?

แม้จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบางรายอาจมีการดำเนินของโรคแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป จนในที่สุดเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทำให้มีน้ำและของเสียคั่งในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการบวม หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียนอ่อนเพลีย ในรายที่เป็นมากอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สับสน ซึมลงและชักได้ เมื่อถึงระยะนี้ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและอายุผู้ป่วยยืนยาวขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

มื่อเป็นโรคไต การดูแลตนเอง คือ การปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง เคร่งครัด รักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ และพบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ โดยควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคไตเรื้อรังได้อย่างไร?

การป้องกันโรคไตเรื้อรัง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดโอกาสเกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง นอกจากนั้น คือ การตรวจสุขภาพประจำปีรวมทั้งตรวจการทำงานของไต เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ทั้งนี้เพื่อให้วินิจฉัย และรักษาโรคไตตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า โดยทั่วไป ในระยะแรกของโรคไต ผู้ ป่วยมักยังไม่มีอาการ

บรรณานุกรม

1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย.แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2552. กรุงเทพ, 2552,1- 46.

2. Chittinandana A, Chailimpamontree W, Chaloeiphap P. Prevalence of chronic kidney disease in Thai adult population. J Med Assoc Thai 2006 ;89 Suppl 2:S112-20.

3. Domrongkitchaiporn S, Sritara P, Kitiyakara C, Stitchantrakul W, Krittaphol V, Lolekha P, Cheepudomwit S, Yipintsoi T.. Risk factors for development of decreased kidney function in a southeast Asian population: a 12-year cohort study. J Am Soc Nephrol 2005;16:791-9.

4. Ingsathit A, Thakkinstian A, Chaiprasert A, Sangthawan P, Gojaseni P, Kiattisunthorn K, Ongaiyooth L, Vanavanan S, Sirivongs D, Thirakhupt P, Mittal B, Singh AK; Thai-SEEK Group. Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrol Dial Transplant 2010;25:1567-75.

5. K/DOQI clinical practice guidelines for chronic kidney disease: evaluation, classification, and stratification. Am J Kidney Dis 2002; 39:S1.

6. Ong-Ajyooth L, Vareesangthip K, Khonputsa P, Aekplakorn W. Prevalence of chronic kidney disease in Thai adults: a national health survey. BMC Nephrol 2009;10:35.

7. Perkovic V, Cass A, Patel AA, Suriyawongpaisal P, Barzi F, Chadban S, Macmahon S, Neal B; InterASIA Collaborative Group. High prevalence of chronic kidney disease in Thailand. Kidney Int 2008 ;73:473-9.

8. Schieppati, A, Pisoni, R, Remuzzi, G. Pathophysiology and management of chronic kidney disease. In: Primer on Kidney Diseases, Greenberg, A (Ed), Elsevier Saunders, Philadelphia, 2005, p. 444.

Updated 2014, Aug 30

ที่มา

http://haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87/