วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนทางการหายใจ โดยเชื้อวัณโรคจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรค ปอดไปสู่ผู้อื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็กๆซึ่งออกมาจากการไอ จาม หรือพูด ละอองเสมหะเหล่านี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง และเมื่อสูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด แล้วเกิดการอักเสบได้ ในการไอ 1 ครั้งอาจพบมีละอองเสมหะออกมาถึง 3,000 ละอองเสมหะ

โอกาสของการแพร่เชื้อวัณโรคขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยคือ

1.    ลักษณะของวัณโรคปอดคือ ถ้าเป็นวัณโรคปอดชนิดที่มีโพรง (เนื้อปอดเกิดเป็นโพรงซึ่งติดต่อกับหลอดลมได้ดี จึงทำให้ตรวจพบเชื้อในเสมหะได้สูง) ซึ่งมักจะตรวจพบเชื้อในเสมหะ จะมีการแพร่เชื้อวัณโรคออกทางเสมหะมาก แต่ในผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดชนิดไม่มีโพรง (โอกาส ตรวจพบเชื้อในเสมหะลดลง) หรือผู้ป่วยที่ย้อมเสมหะไม่พบเชื้อจะมีการแพร่เชื้อน้อยกว่า และในผู้ ป่วยวัณโรคนอกปอดเช่น วัณโรคในต่อมน้ำเหลืองและวัณโรคในเยื่อหุ้มปอด จะไม่มีการแพร่เชื้อ

2.    การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอดในสภาพแวดล้อมที่ปิดทึบ การระบายอากาศไม่ดี ไม่ โดนแสงแดด โอกาสจะติดเชื้อวัณโรคจะสูงขึ้น เพราะเชื้อวัณโรคที่อยู่ในละอองเสมหะจะถูกทำ ลายได้เมื่อโดนแสงแดดและความร้อน

3.    วัณโรคจะไม่ติดต่อทางการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสัมผัส และในผู้ป่วยวัณโรค ปอดที่ได้รับยาวัณโรค ส่วนใหญ่จะไม่แพร่เชื้อเมื่อทานยาเกิน 2 อาทิตย์ไปแล้ว

หลังจากเชื้อวัณโรคเข้าสู่ถุงลมปอดแล้วจะเกิดโรคเมื่อใด?

ในระยะแรกหลังจากเชื้อวัณโรคเข้าในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการและไม่สามารถตรวจ พบได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ จนถึงประมาณหลังจาก 4 อาทิตย์ ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกริยาต่อเชื้อวัณโรค โดยส่วนใหญ่ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในคนปกติจะสามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบนิ่งอยู่ เรียกว่า อยู่ในระยะแฝง ซึ่งจะไม่มีอาการของโรคและไม่แพร่เชื้อ แต่ในผู้ป่วยเด็กเล็กหรือผู้มีภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องเช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS) อาจไม่สามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบได้ จึงเกิดโรควัณโรคปฐมภูมิ (Primary tuberculosis คือ วัณโรคที่แสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดเชื้อ โดยไม่มีการอยู่ในระยะแฝง) เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มปอดหรือวัณโรคต่อมน้ำเหลืองได้ ทั้งนี้ เชื้อ วัณโรคที่อยู่ในระยะแฝงจะสงบอยู่จนมีปัจจัยที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอจึงเกิดโรควัณโรคปอดขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการปะทุของวัณโรคที่สงบนิ่งได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะขาดสารอาหาร การได้รับยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเช่น ในโรคภูมิแพ้ และในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือ โรคเอดส์ ทั้งนี้โดยประมาณ 5% ของผู้ป่วยวัณโรคระยะแฝง จะมีโอกาสเกิด โรควัณโรคปอดในสองปีแรกและอีก 5% จะเกิดโรคภายในสิบปี

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาหรือไม่ในประเทศไทย?

เมื่อกล่าวถึงวัณโรค หลายคนคิดว่าเป็นโรคซึ่งแทบจะหมดไปแล้วจากประเทศไทย แต่ สถานการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังมีความน่าเป็นห่วง

อุบัติการของการติดเชื้อวัณโรครายงานเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2555 จากสำนักวัณโรค กระ ทรวงสาธารณสุข คือ 137 รายต่อประชากร 1 แสนคนหรือประมาณ 90,000 รายต่อปี (ในการนี้ เป็นเชื้อดื้อยาประมาณ 1,900 ราย) เสียชีวิต 16 รายต่อประชากร 1 แสนคน และผู้ป่วยวัณโรคติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 15%

อาการของวัณโรคปอดเป็นอย่างไร?

อาการสำคัญของวัณโรคปอดคือ ไอเรื้อรังโดยเฉพาะอาการไอที่เกิดขึ้นนานกว่า 3 สัปดาห์ ขึ้นไป โดยจะเริ่มจากไอแห้งๆ ต่อมาจะมีเสมหะจนอาจมีไอเป็นเลือดได้

อาการอื่นๆที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเหงื่อออกกลาง คืน

การตรวจวินิจฉัยวัณโรคทำได้อย่างไร?

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยวินิจฉัยวัณโรคได้แก่

1.    เอ็กซเรย์ปอด ลักษณะผิดปกติที่เข้าได้กับวัณโรคปอดเช่น พบการอักเสบของปอดที่ ปอดกลีบบน

2.    การย้อมเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ควรทำในผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคเพื่อช่วย ยืนยันการวินิจฉัย โดยจะเก็บเสมหะตอนเช้าหลังตื่นนอน 3 วันติดต่อกัน จะรู้ผลภายในประมาณ 30 นาที แต่มีข้อเสียคือ วิธีนี้มีโอกาสตรวจพบเชื้อวัณโรคได้เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย เท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะก็ยังอาจเป็นโรควัณโรคปอดได้

3.    การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ข้อดีคือ วิธีนี้สามารถตรวจพบเชื้อได้สูงถึง 80 - 90% ของผู้ป่วย แต่ต้องใช้เวลาประมาณสองเดือนจึงทราบผล

อนึ่ง เมื่อมีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับวัณโรคเช่น ไอเรื้อรัง มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด แพทย์จะส่งทำเอ็กซเรย์ปอดซึ่งถ้าพบลักษณะผิดปกติที่เข้าได้กับวัณโรคปอด แพทย์จะให้ผู้ ป่วยเก็บเสมหะตรวจย้อมเชื้อวัณโรค ซึ่งถ้าพบเชื้อวัณโรคก็จะวินิจฉัยได้แน่นอน แต่บางครั้งผู้ ป่วยมีอาการและเอ็กซเรย์ปอดเข้าได้กับวัณโรคแต่ย้อมไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะแพทย์อาจ ให้การวินิจฉัยและให้การรักษาแบบวัณโรคปอดได้ แต่ต้องติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

มีแนวทางรักษาวัณโรคอย่างไร?

วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องรับประทานยาทุกวันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจะ ใช้สูตรยารักษา 6 เดือนซึ่งได้ผลดีที่สุดโดยจะให้ยาได้แก่

1. Isoniazid (ไอโซไนอะซิด)

2. Rifampicin (ไรแฟมปิซิน)

3. Ethambuthol (อีแธมบิวธอล)

4. Pyrazinamide (ไพราซินามาย)

โดยจะให้รับประทานยาทั้ง 4 ตัว 2 เดือน ต่อด้วยยา isoniazid + Rifampicin อีก 4 เดือน อาการหรือผลข้างเคียงของยารักษาวัณโรคเช่น มีผื่น อาเจียน ปวดข้อ และตับอักเสบ ซึ่งพบผลข้างเคียงจากยาได้ประมาณ 5%

ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติอย่างไร?

ผู้ป่วยวัณโรคควรดูแลตนเองหรือควรปฏิบัติดังนี้

1.    รับประทานยาวัณโรคตามที่แพทย์แนะนำจนครบตามกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยา ถ้ามีอาการผิดปกติหลังเริ่มรับประทานยาวัณโรคเช่น มีผื่น อาเจียน ปวดข้อ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อทำการปรับยาและพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

2.    ในช่วงแรกของการรักษาโดยเฉพาะสองอาทิตย์แรกถือเป็นระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรอยู่แต่ใน บ้าน โดยแยกห้องนอน นอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกและแสงแดดส่องถึง ไม่ออกไปในที่ ที่มีผู้คนแออัด และต้องใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ชุมชน

3.    ปิดปาก จมูก เวลาไอหรือจามทุกครั้ง

4.    งดสิ่งเสพติดเช่น เหล้า บุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประ โยชน์ห้าหมู่) เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ธัญพืช ผัก และผลไม้

5.    ให้บุคคลใกล้ชิดเช่น คนในบ้านพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอด ซึ่งในผู้ใหญ่ ถ้าผลเอ็กซเรย์ไม่พบความผิดปกติจะถือว่าไม่เป็นวัณโรคไม่จำเป็นต้องมีการรักษา แต่ในเด็ก เล็ก ถึงแม้จะไม่มีอาการและเอ็กซเรย์ปอดปกติ จะต้องตรวจทูเบอร์คูลิน (tuberculin skin test หรือ TST) ซึ่งถ้าผลเป็นบวก แพทย์จึงจะให้การรักษาวัณโรค

ป้องกันวัณโรคได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การป้องกันวัณโรคและการพบแพทย์ได้แก่

1.    รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายพักผ่อนให้พอเพียง กินอาหารที่มีประ โยชน์ ไม่ใช้ยาเสพติด หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการติดโรคเอดส์ (รักษาสุขอนามมัยพื้นฐาน/สุขบัญ ญัติแห่งชาติ) และควรตรวจสุขภาพและเอ็กซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี

2.    ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรดูแลให้ทำตามข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยวัณโรคดังกล่าว ในหัวข้อ ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติอย่างไร อย่างเคร่งครัด

3.    ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ให้ทารกแรกเกิดทุกราย วัคซีนชนิดนี้มีผลในการป้องกันวัณโรค ชนิดรุนแรงในเด็กเล็ก แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ ผู้ที่เคยฉีดบีซีจีมาแล้วก็ยังมี โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้

4.    ถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรคเช่น ไอเรื้อรัง มีไข้ เจ็บหน้าอก เหงื่อออก กลางคืน เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบพบแพทย์เสมอ

บรรณานุกรม

1.    ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ http://td.dpc7.net/sites/default/files/situation.pdf [2015,March21]

ที่มา

http://haamor.com/th/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84/